เปรียบเทียบ สถานการณ์น้ำท่วมปี 67 ซ้ำรอยปี 54 หรือไม่
สทนช. ระดมหน่วยงานร่วมประเมินสถานการณ์อุทกภัย 3 ปี 2554 2565 และ 2567 เชื่อสถานการณ์ไม่รุนแรงเท่าปี 54 แต่ต้องจับตาพายุ 2 ลูกช่วงเดือนก.ย.-ต.ค. 67
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ประเมินสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทยในขณะนี้ ทำให้เกิดข้อกังวลของพี่น้องประชาชนว่าสถานการณ์จะมีความรุนแรงเทียบเท่ากับที่เคยเกิดในปี 2554 และจะส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก
สทนช. จึงได้รวมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นโดยวิเคราะห์ เปรียบเทียบแนวโน้มความเสี่ยงอุทกภัยระว่าง 3 ปี ได้แก่ ปี 2554 ปี 2565 และ ปี 2567 ในประเด็นต่างๆ ดังนี้
การประเมินพายุจรที่พัดผ่านเข้าประเทศไทย พบว่า
ปี 2554 มีพายุพัดผ่านเข้าไทย จำนวน 5 ลูก
ปี 2565 มีพายุพัดผ่านเข้าไทย จำนวน 1 ลูก ได้แก่ พายุโนรู (เดือน ก.ย.) และยังได้รับอิทธิพลจากพายุดีเปรสชันและไต้ฝุ่นที่เข้ามาบริเวณประเทศเพื่อนบ้าน
ปี 2567 คาดการณ์ว่าจะมีพายุพัดผ่านเข้าประเทศไทย จำนวน 2 ลูก โดยมีโอกาสสูงที่จะเคลื่อนผ่านบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือในช่วงเดือนกันยายนหรือตุลาคม
เปรียบเทียบปริมาณฝนสะสม พบว่า
ปี 2554 ฤดูฝนในประเทศไทยเริ่มต้นเร็วกว่าปกติและมีฝนตกสะสมต่อเนื่อง โดยไม่มีภาวะฝนทิ้งช่วง ปริมาณฝนเฉลี่ยทั้งปีสูงกว่าค่าปกติ 24% และมีค่ามากที่สุดในรอบ 61 ปี (นับจาก พ.ศ.2494)
ปี 2565 มีปริมาณฝนเฉลี่ยทั้งประเทศ 1,876 มม. สูงกว่าค่าปกติ 27% หรือมากที่สุดเมื่อเทียบกับข้อมูลในอดีตย้อนหลัง 40 ปี ซึ่งหมายรวมถึงมากกว่าปี 2554 ที่ประเทศไทยเกิดอุทกภัยร้ายแรง แต่ในปี 2565 กลับพบว่าสถานการณ์อุทกภัยไม่รุนแรงและยาวนานเหมือนปี 2554
ปี 2567 ณ เดือนสิงหาคมนี้ปริมาณฝนในภาพรวมของประเทศไทย ยังคงต่ำว่าค่าปกติ ร้อยละ 4 และต่ำกว่า ปี 2554
เปรียบเทียบศักยภาพในการรองรับน้ำของ 4 เขื่อนหลัก ณ วันที่ 24 ส.ค. ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ พบว่า
ปี 2554 สามารถรองรับได้ 4,647 ล้าน ลบ.ม.
ปี 2565 สามารถรองรับ 11,929 ล้าน ลบ.ม.
ปี 2567 ยังสามารถรองรับน้ำได้อีก 12,071 ล้าน ลบ.ม.
เมื่อดูที่ปริมาณน้ำท่า ณ วันที่ 24 ส.ค. พบว่า
ปี 2554 สถานี C.2 มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,284 ลบ.ม./วินาที (ค่าสูงสุด 4,689 ลบ.ม./วินาที) และการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา (C.13) 1,832 ลบ.ม./วินาที (ค่าสูงสุด 3,726 ลบ.ม./วิ)
ปี 2565 สถานี C.2 มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,582 ลบ.ม./วินาที (ค่าสูงสุด 3,099 ลบ.ม./วินาที) และการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา (C.13) 1,500 ลบ.ม./วินาที (ค่าสูงสุด 3,169 ลบ.ม./วินาที)
ปี 2567 ปริมาณน้ำท่ายังคงอยู่ในการควบคุมและเป็นไปตามแผน กล่าวคือ ที่สถานี C.2 มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 837 ลบ.ม./วินาที (คาดว่าจะสูงสุด 2,860 ลบ.ม./วินาที) และการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา (C.13) 499 ลบ.ม./วินาที (คาดว่าสูงสุด 2,700 ลบ.ม./วินาที)
“จากการติดตามประเมินสถานการณ์และแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างใกล้ชิดของหน่วยงานต่างๆ พบว่า ปริมาณฝนตกในทุกพื้นที่ขณะนี้ระดับความรุนแรงยังเทียบไม่ได้กับปี 2554 อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าระวังและเตรียมแผนบริหารจัดการกรณีเกิดพายุที่อาจจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยด้วย”
ขอบคุณภาพ สทนช.