เช็กสิทธิ สมรสเท่าเทียม ทำอะไรได้บ้าง พร้อมเปิดจดทะเบียนพรุ่งนี้

รัฐบาลพร้อม 878 อำเภอ เปิดรับจดทะเบียน สมรสเท่าเทียม จดได้ทั้งที่ อำเภอ/เขต และสถานทูตไทยในต่างประเทศทั่วโลก เช็กสิทธิกฎหมายเท่าเทียมทำอะไรได้บ้าง
นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาล โดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย มีความพร้อมสำหรับการ อำนวยความสะดวก ในการจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายสมรสเท่าเทียม พร้อมกันทั่วประเทศ แล้วในวันที่ 23 มกราคมนี้ บนหลักการความเสมอภาคและเท่าเทียม ภายใต้แนวคิด “สมรสเท่าเทียม ยินดีกับทุกความรัก 878 อำเภอ ทั่วไทย (Embracing Equality : Love Wins in 878 Districts)”
กรมการปกครองในฐานะนายทะเบียนกลาง ได้เตรียมความพร้อมซักซ้อมการปฏิบัติกับสำนักทะเบียน และอำเภอ 878 แห่ง พร้อมทั้งสำนักงานเขต ใน กทม. 50 เขต รวมทั้งสถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลไทยในต่างประเทศ 94 แห่งซึ่งจะมีผลใช้บังคับในวัน พฤหัสบดีที่ 23 มกราคม 2568 ใน 4 ด้าน คือ
- ด้านระเบียบ โดยได้ร่างระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2568 เพื่อรองรับการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวระหว่างบุคคลเพศหลากหลาย ทำให้คู่รักสามารถหมั้นและสมรสกันได้ ซึ่งจะทำให้ทราบสิทธิ หน้าที่ และสถานะทางครอบครัวที่เท่าเทียมกัน และเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวที่ก่อตั้งขึ้นระหว่างบุคคลทั้งสองฝ่าย
- ด้านระบบ โดยได้มีการแก้ไขระบบทะเบียนสมรสและทะเบียนหย่า และมีการทดสอบระบบเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งจัดเตรียมผลิตแบบพิมพ์ ใบสำคัญการสมรส (คร.3) และใบสำคัญการหย่า (คร.7) เพื่อรองรับการให้บริการที่เพิ่มสูงขึ้น
- ด้านบุคลากร โดยได้จัดทำชุดความรู้และอบรมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทะเบียนใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ ความรู้ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด การปรับกรอบความคิดในการให้บริการประชาชน และการบริการที่เป็นสากลบนหลักความเสมอภาคและเท่าเทียม คำนึงถึงมารยาทสากลและหลักสิทธิมนุษยชน
- ด้านการจัดกิจกรรม ได้แก่ กิจกรรม Kick Off ในวันนี้ และกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ที่จะจัดขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ ณ ที่ว่าการอำเภอ ทั้ง 878 แห่ง ในวันที่ 23 ม.ค. 68 ซึ่งเป็นวันแรกที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้ เพื่อเฉลิมฉลองให้กับทุกความรักตามแนวคิด “กรมการปกครองยินดีเป็นนายทะเบียนให้กับทุกความรัก”
ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีกฏหมายสมรสเท่าเทียมชาติที่ 37 ของโลก ชาติที่ 3 ของเอเชีย และชาติแรกในอาเซียน โดยสิทธิและหน้าที่ที่มีผลบังคับใช้ทันทีมีดังต่อไปนี้
- การหมั้นและการสมรส
- การหย่าร้าง รวมถึงการฟ้องหย่าหากเลี้ยงดูผู้อื่นฉันชู้ และฟ้องค่าทดแทนจากชู้ โดยไม่จำกัดเงื่อนไขเรื่องเพศ
- การสมรสกับคนต่างชาติโดยใช้กฎหมายไทย
- การจดทะเบียนสมรส
- การรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน
- การให้ความยินยอมต่อการรักษาพยาบาล กรณีที่คู่สมรส (ผู้ป่วย) ไม่อยู่ในสภาวะที่จะรับทราบข้อมูลสุขภาพเพื่อตัดสินใจรักษาพยาบาล
- การเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ ในกรณีที่ศาลสั่งให้คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
- การจัดการ ‘สินสมรส’ หรือทรัพย์สินระหว่างคู่สมรสที่ทำมาหาได้ร่วมกัน หรือดูแลผลประโยชน์จากทรัพย์สิน และการจัดการหนี้สินร่วมกัน ทั้งนี้ ‘สินส่วนตัว’ ของคู่สมรสฝ่ายหนึ่งสามารถจัดการทรัพย์สินของตัวเองได้ตามปกติ
- สิทธิในการรับมรดก
- สิทธิในการใช้นามสกุลของคู่สมรส
- สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี
- สิทธิได้รับประโยชน์และสวัสดิการจากรัฐในฐานะคู่สมรส