30 เมษายน 2025
Home » ข่าวเด่น » เงินเฟ้อ ก.พ.67 ลบ 5 เดือนติด แต่ชาวบ้านปาดเหงื่อของแพงขึ้น 264 รายการ

เงินเฟ้อ ก.พ.67 ลบ 5 เดือนติด แต่ชาวบ้านปาดเหงื่อของแพงขึ้น 264 รายการ

SHARE THIS

เงินเฟ้อ ก.พ.67 ลดลงต่อเนื่อง 5 เดือนติดต่อกัน แต่สินค้ายังแพงขึ้น 264 รายการ พาณิชย์ชี้เงินยังไม่ฝืด เหตุติดลบเพราะมาตรการลดค่าน้ำมัน ไฟฟ้ารัฐ   

 

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือน ก.พ.67 เท่ากับ 107.22  ลดลง 0.77% เมื่อเทียบกับเดือน ก.พ.66 เป็นการลดลงต่อเนื่อง 5 เดือนติดต่อกัน โดยมีสาเหตุจากราคาเนื้อสัตว์ ผักสด ปรับลดลง หลังมีผลผลิตเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก รวมทั้งน้ำมันดีเซลและค่ากระแสไฟฟ้าที่ต่ำกว่าปีก่อน ประกอบกับฐานเงินเฟ้อเดือน ก.พ.66 ที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อยังอยู่ระดับสูง มีส่วนทำให้เงินเฟ้อทั่วไปลดลง ขณะที่เงินเฟ้อเฉลี่ย 2 เดือนแรกของปี 67 (ม.ค.-ก.พ.) ลดลง 0.94%   

 

ทั้งนี้ ในเดือนก.พ.67 มีสินค้าปรับขึ้นราคา 264 รายการ เท่าเดิม 47 รายการ ลดลง 119 รายการ โดยแยกเป็นสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ลดลง 0.97% อาทิ เนื้อสุกร ปลาทู กุ้งขาว ปลากะพง ผักสด น้ำมันพืช น้ำปลา ส่วนสินค้าที่สูงขึ้น อาทิ ข้าวสาร ไข่ไก่ นมถั่วเหลือง ครีมเทียม ผลไม้ น้ำตาลทราย กาแฟสำเร็จรูปพร้อมดื่ม กับข้าวสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว  อาหารกลางวัน

 

ด้านหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 0.63% มาจากน้ำมันดีเซล และค่าไฟฟ้าลดลงจากมาตรการช่วยเหลือภาครัฐ เสื้อผ้า ผงซักฟอก น้ำยาล้างห้องน้ำ  เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงสบู่ถูตัว แชมพูสระผม ส่วนสินค้าที่แพงขึ้น อาทิ แป้งทาผิวกาย น้ำยาระงับกลิ่นกาย ยาสีฟัน ยาแก้ไข้หวัด ยาลดกรดในกระเพาะ ค่าตรวจรักษาโรค ตั๋วเครื่องบิน บุหรี่ สุรา และไวน์  ขณะที่ทางด้านเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน ก.พ.67 เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก เพิ่มขึ้น 0.43% เมื่อเทียบกับเดือน ก.พ.66 เฉลี่ย 2 เดือนแรก เพิ่ม 0.47%

 

 

นายพูนพงษ์กล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไปเดือน มี.ค.67 จะยังลดลงต่อเนื่อง และไตรมาสแรกปี 67 เงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ลบ 0.7-0.8% เช่นเดียวกับเดือนเม.ย.67 ก็ยังลดอีก และจะกลับมาบวกได้เดือนพ.ค.67 โดยสาเหตุจากมาตรการลดค่าครองชีพด้านพลังงาน ที่รัฐบาลตรึงค่าไฟฟ้า 3.99 บาทต่อหน่วย รวมถึงตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร  ประกอบกับเนื้อสุกรและผักสดปรับตัวลดลง แต่จะต้องจับตาดูมาตรการลดค่าไฟฟ้า และน้ำมันในระยะต่อไปของรัฐบาลว่าจะขยายต่อหรือไม่ หลังสิ้นสุดเดือนเม.ย.นี้

 

อย่างไรก็ตาม สนค.มองว่าการจะเกิดสถานการณ์เงินฝืดในไทยหรือไม่นั้น จะต้องดูหลายองค์ประกอบ ซึ่งขณะนี้เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ ราคาสินค้ายังเพิ่มขึ้น 264 รายการ การว่างงานอยู่ระดับต่ำ และหากนับเฉพาะเงินเฟ้อพื้นฐานก็ยังเป็นบวกอยู่ ทำให้ สนค.คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี 67 จะติด 0.3% ถึงเป็นบวก 1.7% ค่ากลาง 0.7% ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน

 

ทั้งนี้ มีปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่ม ได้แก่ ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยืดเยื้อ อาจทำให้ราคาน้ำมันดิบ และสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้น เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าสูงขึ้น สภาพอากาศที่แปรปรวนจากปรากฏการณ์เอลนีโญ รวมทั้งการเข้าสู่ฤดูร้อน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนและผลผลิตทางการเกษตร การท่องเที่ยวที่ขยายตัวทำให้สินค้าและบริการสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาค่าโดยสารเครื่องบิน

 

#เงินเฟ้อ #ของแพง #ข่าวจริง #กระทรวงพาณิชย์ #เงินฝืด #Thefacts #Thefactsnews