28 มีนาคม 2025
Home » ข่าวเด่น » ป.ป.ช.เปิด 8 จุดเสี่ยงถล่ม ดิจิทัล วอลเล็ท ค้านกู้มาแจก

ป.ป.ช.เปิด 8 จุดเสี่ยงถล่ม ดิจิทัล วอลเล็ท ค้านกู้มาแจก

SHARE THIS

“ป.ป.ช.” ชง  8 จุดเสี่ยงถล่มโครงการ เงินดิจิทัลวอลเล็ต จ่อเสนอรัฐบาลภายใน  2 วัน ชี้ เศรษฐกิจยังไม่วิกฤติ ไม่ควรกู้เงินแจก

เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2567 นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. แถลงความคืบหน้าโครงการดิจิทัล วอลเล็ทว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเห็นชอบส่งความเห็นผลการศึกษานโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน แล้ว โดยประธาน ป.ป.ช. ได้ลงนาม และจะส่งให้รัฐบาลภายใน 1-2 วันนี้โดยจากการศึกษาพบว่า มีประเด็นสำคัญที่ควรพิจารณา 4 ประเด็น คือ 1.เสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย และการทุจริตกลุ่มเป้าหมาย 2.มีความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่ยังไม่ถึงขั้นวิกฤติ 3.เสี่ยงด้านกฎหมาย ทั้งรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง  พ.ร.บ.เงินคงคลัง พ.ร.บ.เงินตรา และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงระเบียบที่เกี่ยวข้อง  และ 4.ในประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่นเทคโนโลยีบล็อกเชน และประเด็นเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายของพรรคการเมือง

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 กรรมการ ป.ป.ช. ได้ประชุมและมีมติเห็นควรเสนอข้อเสนอแนะ เพื่อป้องกันการทุจริตจากนโยบายดังกล่าวต่อ ครม.เพื่อพิจารณาหาทางป้องกันไม่เกิดความเสียหาย จำนวน 8 ประเด็น ดังนี้

  1. รัฐบาลควรศึกษาวิเคราะห์การดำเนินโครงการอย่างเป็นรูปธรรม  ว่าผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการ จะไม่ตกแก่พรรการเมือง นักการเมือง หรือเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่
  1. ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ  กกต. ศึกษา เรื่องการหาเสียงของเพื่อไทยและคำแถลงนโยบายเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว ว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ มิฉะนั้นจะเป็นบรรทัดฐาน สำหรับพรรคการเมืองที่หาเสียงไว้  เมื่อได้รับเลือกตั้ง ไม่จำเป็นต้องปฎิบัติตามที่ได้หาเสียงไว้
  1. ควรคำนึงถึงความคุ้มค่าและผลกระทบทางเศรษฐกิจในอนาคต และหลักธรรมาภิบาล 4 ด้าน คือ ความโปร่งใส การถ่วงดุล การรักษาความมั่นคงของระบบการคลัง  และความคล่องตัว  พิจารณาผลดีผลเสียการกู้เงิน 5 แสนล้านบาท ที่จะสร้างภาระหนี้ในระยะยาว ซึ่งจะต้องตั้งงบประมาณในการชำระหนี้จำนวนนี้เป็นระยะเวลา 4-5 ปี กระทบตัวเลขการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ
  1. ควรพิจารณาประเด็นความเสี่ยงด้านกฎหมายอย่างรอบด้าน เพื่อให้การดำเนินการเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเป็นไปตามกฎหมาย
  1.  ควรประเมินความเสี่ยงในการดำเนินโครงการ โดยกำหนดแนวทางหรือมาตรการในการบริหารความเสี่ยงและการป้องกันการทุจริต และมีกระบวนการในการตรวจสอบ ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังดำเนินโครงการ เพื่อให้เป็นไปผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง
  1. การใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้  ควรพิจารณาถึงความจำเป็นและความเหมาะสม ตลอดจนระยะเวลาและงบประมาณที่ใช้พัฒนาระบบ ของการจ่ายเงินเพียงครั้งเดียว โดยให้ใช้จ่ายภายใน 6 เดือน
  1.  จากข้อมูลทางเศรษฐกิจของหน่วยงานต่างๆ ที่ได้จากการศึกษา มีความเห็นตรงกัน ว่าในช่วงเวลาที่ศึกษาอัตราความเจริญเติบโตของไทย ยังไม่ถึงขั้นประสบภาวะวิกฤต เพียงแต่ชะลอตัวเท่านั้น ดังนั้นในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน รัฐบาลควรพิจารณาให้ความสำคัญต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจ
  1. หากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องช่วยเหลือประชาชน ควรเลือกช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เท่านั้น  โดยแจกจากแหล่งงบประมาณปกติ ไม่ใช่เงินกู้ตามพระราชบัญญัติเงินกู้ และจ่ายในรูปแบบเงินบาทปกติในอัตราที่เหมาะสม  ผ่านแอปพลิเคชั่นเป๋าตังที่มีประสิทธิภาพและมีฐานข้อมูลครบถ้วน สามารถทำได้รวดเร็ว ซี่งหากใช้แหล่งเงินงบประมาณปกติ จะลดความเสี่ยงที่จะขัดต่อกฎหมายต่างๆ และที่สำคัญไม่สร้างภาระหนี้สาธารณะของประเทศในระยะยาว

“หลังจากนี้ ป.ป.ช.ติดตามการอย่างใกล้ชิด เป็นแนวทางในการป้องกัน เพราะตอนนี้เราก็ยังไม่รู้ว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร แล้ว ป.ป.ช. ไม่สามารถที่จะชี้ชัดได้ว่า โครงการนี้ดีหรือไม่ดี รัฐบาลควรจะยุติโครงการนี้หรือเดินหน้าต่อ และยืนยัน ว่า ป.ป.ช.ไม่มีหน้าที่ไประงับยับยั้งโครงการ เพราะกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ เว้นแต่กรณีที่มีความผิดเกิดขึ้น เกิดการทุจริตไปแล้ว ป.ป.ช.สามารถขอศาลให้มีสั่งยกเลิกโครงการ”

#ปปช #เงินดิจิทัล #ดิจิทัลวอลเล็ท #พรบกู้เงิน #เงินกู้5แสนล้าน #กู้เงิน #ข่าวจริง #Thefacts #thefactsnews