28 มีนาคม 2025
Home » ข่าวเด่น » ตะลึง ไทยพบผู้ป่วย ฝีดาษลิง รายแรก สั่งติดตามอาการอีก 43 คน

ตะลึง ไทยพบผู้ป่วย ฝีดาษลิง รายแรก สั่งติดตามอาการอีก 43 คน

SHARE THIS

กรมควบคุมโรค แถลงข่าวไทยพบผู้ป่วย ฝีดาษลิงรายแรก เป็นชาวยุโรป เดินทางมาจากทวีปแอฟริกา พร้อมติดตามสอบสวนโรค 43 คนนั่งใกล้ชิดบนเครื่องบิน

 

เมื่อวันที่ 21 ส.ค.2567 นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวกรณีพบผู้ป่วยสงสัยฝีดาษลิง สายพันธุ์ Clade 1 คนแรกในประเทศไทย โดยระบุว่า การแถลงข่าววันนี้ไม่ใช่การยืนยันว่าพบผู้ป่วยฝีดาษลิงสายพันธุ์ Clade 1B แต่เป็นผู้ป่วยต้องสงสัยฝีดาษลิงเท่านั้น ขณะนี้ยังไม่ได้ยืนยัน 100% แต่ค่อนข้างเชื่อได้ว่าอาจจะเป็นฝีดาษลิง

 

ผู้ป่วยคนดังกล่าวเป็นชาวยุโรป เพศชาย อายุ 66 ปี เดินทางมาจากประเทศในแถบแอฟริกาที่พบการระบาดของฝีดาษลิงสายพันธุ์ Clade 1B โดยมีการต่อเครื่องในประเทศแถบตะวันออกกลาง ก่อนเดินทางเข้าประเทศไทยเมื่อวันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 18.00 น.

 

จากนั้นวันที่ 15 ส.ค. ผู้ป่วยเริ่มมีอาการไข้ มีตุ่มขึ้นเล็กน้อยจึงเดินทางไปโรงพยาบาล เมื่อโรงพยาบาลซักประวัติได้มีการตรวจฝีดาษลิงสายพันธุ์ Clade 2 ปรากฏผลลบ ส่วนการตรวจสายพันธุ์ Clade 1B ปรากฏว่าผลไม่ชัดเจน โดยมีการตรวจยืนยันอีกว่าใช่ฝีดาษลิงหรือไม่ด้วยการใช้ยีนส์ ซึ่งพบว่าเป็นฝีดาษลิงอย่างแน่นอน แต่ขณะนี้ยังไม่ใช่สายพันธุ์ Clade 2 ส่วนสายพันธุ์ Clade 1B ก็ยังไม่ชัดเจน จึงต้องมีการไล่ยีนส์ตรวจซ้ำอีกครั้งว่าใช่สายพันธุ์ Clade 1B หรือไม่

 

“ผู้ป่วยต้องสงสัยรายนี้คอนข้างเชื่อได้ว่าเป็นฝีดาษลิงแน่ และมาจากประเทศที่มีการระบาดของเคลด 1 บี และเรามีระบบในการติดตามคนสัมผัส คนนั่งเครื่องบินเดียวกัน 2 แถวใกล้ผู้ป่วยรายนี้ มีการสอบสวนโรค ซึ่งมีรายชื่อทั้งหมดแล้ว รวม 43 คน ทั้งไทยและต่างชาติ เข้าสนามบินอย่างไร พบใครบ้าง พักที่ไหน จะเห็นว่า ผู้ป่วยรายนี้มีเวลาสัมผัสกับคนสั้นมาก เพราะมาถึงไทย 6 โมงเย็น แล้ววันรุ่งขึ้นก็ไปพบแพทย์ และอยู่ที่ โรงพยาบาลเลย ทั้งนี้ติดตามคนสัมผัสประมาณ 21 วัน”

 

สำหรับอาการของฝีดาษลิง มีหลายสายพันธุ์เหมือนไข้หวัดใหญ่ ขึ้นอยู่กับว่าสายพันธุ์ใดระบาด โดยในปี 2565 มีการระบาดของสายพันธุ์ Clade 2 ซึ่งในประเทศไทยก็พบการระบาดของสายพันธุ์นี้ตั้งแต่ปี 2565 ถึงปัจจุบันประมาณ 800 คน

 

ส่วนในปี 2567 ตั้งแต่ต้นปีก็พบฝีดาษลิงสายพันธุ์ Clade 2 ประมาณ 140 คน แต่เนื่องจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้ฝีดาษลิงสายพันธุ์ Clade 1B เป็นสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวัง ก็อาจจะมีผลกระทบได้ ซึ่งถือเป็นการตอบสนองของประเทศไทยหลังจากที่องค์การอนามัยโลกได้ประกาศไว้

 

สำหรับสายพันธุ์ที่มีการระบาดในทั่วโลกขณะนี้แบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ Clade 1 หรือสายพันธุ์แอฟริกากลาง ที่มีความรุนแรง อาจถึงขั้นเสียชีวิต พบการระบาดในแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันออกเป็นหลัก มีอัตราการป่วยตายสูง โดยพบกลุ่มเสี่ยงเป็นเด็กและผู้สูงอายุ และสายพันธุ์ Clade 2 หรือสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก มีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์แอฟริกากลางมาก ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอยู่ในไทยและหลายประเทศทั่วโลก

 

#ฝีดาษลิง #ฝีดาษวานร #ผู้ป่วยฝีดาษลิง #อาการฝีดาษลิง #ข่าวจริง #Thefacts #facts #fact