1 พ.ค. แบงก์เก็บค่ารูดบัตรเครดิต 1% ซื้อสินค้า-ร้านออนไลน์จาก ตปท.

เริ่ม 1 พ.ค.2567 ธนาคารพาณิชย์ ประกาศเก็บค่าธรรมเนียม DCC ใช้บัตรเครดิต รูดซื้อสินค้าต่างประเทศ หรือร้านค้าออนไลน์ต่างประเทศเพิ่ม 1% ของยอดใช้จ่าย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง ได้แจ้งเตรียมเก็บค่าธรรมเนียม Dynamic Currency Conversion Fee (DCC Fee) สำหรับการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตวีซ่า/ มาสเตอร์การ์ด เพื่อชำระสินค้า และบริการด้วยสกุลเงินบาท กรณีรูดบัตรในต่างประเทศ หรือรูดซื้อสินค้าจากร้านค้าในต่างประเทศ หรือร้านค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนในต่างประเทศ โดยคิดค่าธรรมเนียมการแปลงสกุลเงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาท ที่ 1% ของยอดใช้จ่าย หรือยอดกดเงินสดในสกุลเงินบาท เริ่มตั้งแต่ 1 พ.ค. 2567 เป็นต้นไป ทุกธนาคาร
ทั้งนี้ การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมรูดบัตรเครดิต ซื้อของออนไลน์ Dynamic Currency Conversion Fee (DCC Fee) ในอัตรา 1 % ของยอดใช้จ่าย ส่งผลให้ผู้บริโภคที่ซื้อสินค้ากับร้านค้าหรือร้านค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนในต่างประเทศ เช่น NETFLIX, APPLE, FACEBOOK, GOOGLE, TikTok, AGODA, Booking, ALIPAY, PAYPAL, AIRBNB, EXPEDIA, EBAY, SPOTIFY, ALIBABA AMAZON ถูกเก็บค่าธรรมเนียม 1%
ตัวอย่าง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียม DCC fee นั้น ยกตัวอย่างเช่น จองโรงแรมในต่างประเทศ โดยชำระเป็นเงินบาท จำนวน 10,000 บาท จะเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มอีก 1% ของยอดใช้บาท 100 บาท
ขณะที่การกดเงินสดด้วยสกุลเงินบาทผ่านตู้ ATM ในต่างประเทศ จะถูกเรียกเก็บ ค่าธรรมเนียมการแปลงสกุลเงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาท หรือ Dynamic Currency Conversion Fee ในอัตรา 1 % ของยอดใช้จ่าย ยอดกดเงินสด โดยคิดจากยอด ณ วันที่บันทึกรายการใช้จ่าย
ปัจจุบันมีหลายธนาคารพาณิชย์ ได้ประกาศเก็บค่าธรรมเนียมการรูดจ่ายเงินต่างประเทศ โดยธนาคารพาณิชย์ที่ประกาศออกมาแล้วคือ ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK, ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือ ttb และผู้ให้บริการบัตรเครดิต อย่าง อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์), กรุงศรี คอนซูเมอร์ และบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ซึ่งจะเริ่มใช้ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2567
รายงานข่าวแจ้งเพิ่มว่า สำหรับผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ ประจำปี 2566 จำนวน 9 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ (BBL) บริษัทเอสซีบี เอกซ์ (SCB) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) กลุ่มทิสโก้ (TISCO) แอลเอช ไฟแนนซ์เชียลกรุ๊ป (LHFG) และธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) พบว่ามีกำไรสุทธิรวม 226,571 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33,635 ล้านบาท หรือคิดเป็น 17.4%
#เก็บค่าธรรมเนียม1% #ค่าธรรมเนียมรูดซื้อของ #ค่าธรรมเนียมซื้อสินค้าต่างประเทศ #ค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต #DCC #ค่าธรรมเนียมวีซ่า #ค่าธรรมเนียมมาสเตอร์การ์ด #ข่าวจริง #Thefacts #Thefactsnews