โพลนายจ้าง ค้านขึ้นค่าแรง 400 ขู่ใช้เครื่องจักรแทน ลูกจ้างหนี้ท่วม

ม.หอการค้าไทย เผย เอกชนชี้ ขึ้นค่าแรง 400 บาท อาจนำเครื่องจักรมาใช้แทนคน ชี้ทำต้นทุนเพิ่มอาจขยับราคาสินค้าอีก 15%
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้า เปิดเผยว่า จากกรณีที่กระทรวงแรงงานปรับขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ 400 บาท นำร่อง 10 จังหวัดในธุรกิจโรงแรม และเตรียมทยอยขึ้นค่าแรงในธุรกิจ ทั่วประเทศภายในปี 2567 ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้สำรวจความคิดเห็นภาคเอกชนทั้งภาคการผลิต การค้าและบริการ พบว่า การปรับอัตราค่าแรงในแต่ละครั้งมักจะมีผลกระทบต่อทั้ง GDP เงินเฟ้อ ผลิตภาพแรงงาน รวมถึงอัตราการว่างงานทั้งบวกและลบ
นายจ้างค้านขึ้นค่าแรง
ทั้งนี้ ข้อมูลเจ้าของธุรกิจเอกชน 64.7 % ระบุว่าหากขึ้นค่าแรง จะปรับราคาสินค้าและบริการประมาณ 15 % ขึ้นไป และ 17.2 % คือ ลดปริมาณสินค้าแต่ขายราคาเท่าเดิม ที่สำคัญอีก 11.5 % มีแนวโน้มที่จะนำเครื่องจักรมาทดแทนแรงงาน เพราะกำลังการผลิตของแรงงานไม่สามารถเทียบเท่ากับเครื่องจักรได้ และเครื่องจักรมีความแม่นยำ ถูกต้องกว่าแรงงานคน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการ 72.6 % ยังคงเห็นว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาท ยังไม่มีความเหมาะสม และยังมองว่าค่าจ้างแรงงานที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ 370 บาทต่อวัน
ส่วนมุมของแรงงาน หรือ ผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท สำรวจทั่วประเทศจำนวน 1,259 ตัวอย่าง พบว่ากรณีที่ไม่สามารถปรับเพิ่มค่าแรงได้อย่างที่คาดหวังไว้ ซึ่งส่วนใหญ่ 65.3 % ขอเพียงให้เพิ่มเท่ากับค่าสาธารณูปโภคที่เพิ่มสูงขึ้น รองลงมาขอให้เพิ่มเท่ากับค่าเดินทาง เพิ่มเท่ากับค่าราคาอาหาร เพิ่มเท่ากับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และเพิ่มเท่ากับค่าเช่าที่อยู่อาศัย
ข้อดี-ข้อเสียขึ้นค่าแรง
นายธนวรรธน์กล่าวว่า สำหรับผลเชิงบวกจากการขึ้นค่าแรง คือ เมื่อผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) เพิ่ม จะช่วยผลักดันให้ GDP โตขึ้นตามไปด้วย กระตุ้นกำลังซื้อดีและการผลิตและการลงทุนดีขึ้น โดยเฉพาะหากผลิตภาพแรงงานที่สูงขึ้น อาจช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้า เมื่อต้นทุนต่อหน่วยลดลง จะช่วยให้สินค้าในประเทศแข่งขันได้มากขึ้น และเมื่อค่าแรงสูงขึ้นอาจจูงใจให้นายจ้างลงทุนในการพัฒนาทักษะและเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิตของแรงงาน
ส่วนผลเชิงลบ คือ หากค่าแรงเพิ่มเร็วเกินไป อาจเกิดการว่างงานและกำลังซื้อลดลง เช่น ฝรั่งเศส ปี 2543 ค่าแรงขึ้นมากเกินไปโดยไม่ได้คำนึงถึงผลิตภาพแรงงาน และถ้าผลิตภาพไม่เพิ่มตามค่าแรง ความสามารถแข่งขันอาจลดลง กระทบการส่งออกและ GDP ขณะเดียวกัน นายจ้างอาจปลดพนักงานหากรับมือต้นทุนไม่ไหว กระทบกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจ ต้นทุนค่าแรงอาจถูกผลักไปที่ราคาสินค้าทำให้เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อ โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น และหากไม่ลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพ ต้นทุนที่สูงขึ้นอาจมีผลทำให้ขีดความสามารถแข่งขันลดลง ซึ่งส่งผลเสียในระยะยาว
แรงงานไทยหนี้ท่วม
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า สำหรับสถานะแรงงานไทย มีมูลค่าหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ประมาณ 344,500 บาท ปรับเพิ่มขึ้นจากปี 2566 ซึ่งอยู่ประมาณ 272,5000 บาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 26.4 โดยแรงงานส่วนใหญ่มองว่าค่าจ้างขั้นต่ำมีความเหมาะสมปานกลางไปถึงน้อย เพราะราคาสินค้าที่ปรับตัวขึ้น ไม่สมดุลกับรายได้ที่น้อย ทำให้มีภาระหนี้สูง และค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น ที่สำคัญแรงงานไทยมีหนี้สูงถึงร้อยละ 98.8 ส่วนกลุ่มที่ไม่มีหนี้มีเพียงร้อยละ 1.2 เท่านั้น
ส่วนใหญ่เป็นหนี้ส่วนบุคคลหรือหนี้บัตรเครดิต ใช้หนี้เงินกู้ หนี้ที่อยู่อาศัย โดยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เกือบครึ่งหนึ่งเคยประสบปัญหาผิดนัดการผ่อนชำระหนี้ โดย 1 ใน 3 ระบุว่าสาเหตุมาจากรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย เพราะราคาสินค้าแพงขึ้น ภาระหนี้มากขึ้น แต่รายได้ไม่เพิ่มตามราคาสินค้า ดอกเบี้ยสูงขึ้น สำหรับคาดการณ์การใช้จ่ายในวันหยุดแรงงาน มีผู้ใช้แรงงานจะมีมูลค่าการใช้จ่ายเฉลี่ยที่คนละ 2,655 บาท ซึ่งจะทำให้มีเงินสะพัดประมาณ 2,117 ล้านบาท ถือเป็นการใช้จ่ายสูงสุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19
#ขึ้นค่าแรง #ขึ้นราคาสินค้า #วันแรงงาน #เลิกจ้าง #ข่าวจริง #Thefacts #fact #facts