เศรษฐกิจทรุดหนัก สศช.เผย GDP 66 โต 1.9% จี้ ธปท.ลดดอกเบี้ยด่วน

สภาพัฒน์ เผยตัวเลขจีดีพี ปี 2566 ทรุดกว่าที่คาด ขยายตัวแค่ 1.9% ปี 67 เหลือโต 2.7% จากเดิม 3.2% จี้แบงก์ชาติ ลดดอกเบี้ย การชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตด่วน
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2566 ทั้งปี 2566 และแนวโน้มปี 2567 ว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2566 ขยายตัวแค่ 1.7% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์จะขยายตัว 2.5% โดยการอุปโภคภาครัฐบาล ลดลง 3% การลงทุนรวมลดลง 0.4% ด้านการบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว 7.4% ส่วนปริมาณการส่งออกสินค้า ขยายตัว 3.4% ดังนั้น จากการที่เศรษฐกิจไตรมาส 4 ต่ำกว่าที่คาด ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยตลอดทั้งปี 2566 ขยายตัวแค่ 1.9% ต่ำกว่าเป้าหมายเดิมที่ สศช. ประเมินเอาไว้ในการแถลงข่าวเมื่อครั้งก่อนว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2.5%
ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจในปี 2567 สศช.ยังได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยใหม่ จากเดิมคาดว่าจะกลับมาขยายตัวได้ในระดับ 2.7-3.7% หรือขยายตัวเฉลี่ย 3.2% เหลือเพียง 2.2-3.2% หรือขยายตัวเฉลี่ย 2.7% เท่านั้น โดยปัจจัยหลักมาจากการขยายตัวของภาคส่งออก และการลงทุน ตลอดจน การอุปโภคบริโภคในประเทศ ซึ่งยังไม่ได้รวมผลจากมาตรการดิจิทัล วอลเล็ต แต่แม้เศรษฐกิจจะชะลอตัว แต่ยังเร็วเกินไป ที่จะสรุปว่า เศรษฐกิจไทยเข้าเงื่อนไขวิกฤต เพราะยังต้องจับตามองความเสี่ยงอื่น ๆ ภาระหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ดอกเบี้ยแพง ตลอดจนความผันผวนของเศรษฐกิจโลก
“การที่เศรษฐกิจชะลอตัวเป็นผลจากการสิ้นสุด มาตรการจ่ายเงินสวัสดิการภาครัฐของรัฐบาลชุดก่อน ประกอบกับการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ล่าช้า จนกระทบการลงทุนภาครัฐหดตัวลง 20.1% โดยแม้การค้าโลกมีสัญญาณฟื้นตัวแต่การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับลดลงต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการใช้กำลังการผลิตอยู่ในระดับต่ำส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ ขณะเดียวกับ การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงเฉลี่ยเหลือคนละ 36,000 บาท ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ชะลอตัวลง ต่ำกว่าคาดการณ์”
ทั้งนี้ เรียกร้องให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทบทวนการดำเนินนโยบายการเงินอย่างจริงจัง โดยลดดอกเบี้ยจากปัจจุบันอยู่ที่ 2.5% ต่อปี ลดช่องว่างสัดส่วนกำไรสุทธิระหว่างดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากให้แคบลง และกลับมาใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน โดยกำหนดอัตราขั้นต่ำในการชำระบัตรเครดิต จากปัจจุบัน 8% ให้เหลือ 5% เพื่อลดภาระทางการเงินของภาคครัวเรือนและเอสเอ็มอี ที่ต้องพึ่งสินเชื่อบัตรเครดิตเป็นทุนหมุนเวียน อีกทั้ง ยังเห็นสัญญาณผู้ผิดนัดชำระหนี้ กลายเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น
“มาตรการผ่อนคลายทางการเงินดังกล่าว อาจไม่มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยตรง แต่เป็นการบรรเทาภาระภาคครัวเรือน และเอสเอ็มอี หากแบงก์ชาติ ผ่อนคลายนโยบายการเงิน ก็ต้องเป็นไปภายใต้มาตรการเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ เพื่อลดความเสี่ยงก่อหนี้เกินตัว กลับมาซ้ำเติมเศรษฐกิจในระยะต่อไป”
นอกจากนี้ แนะให้รัฐบาลติดตามตรวจสอบ เฝ้าระวังการทุ่มตลาด พร้อมกับทบทวนมาตรการทางภาษี ให้มีความเหมาะสม ปรับปรุงระบบตรวจสอบคุณภาพสินค้านำเข้า หลังปริมาณการผลิต ลดลง สวนทางกับการเติบโตภาคการบริโภค ซึ่งรู้สึกแปลกใจที่เอกชนชะลอการผลิตแต่นำสินค้าในสต็อกออกมาจำหน่ายได้ถึง 10 เดือน
#จีดีพี #สภาพัฒน์ #สศช #จีดีพีหดตัว #เศรษฐกิจปี66 #จีดีพี66 #จีดีพี67 #ลดดอกเบี้ย #ข่าวจริง #Thefacts #Thefactsnews