30 เมษายน 2025
Home » ข่าวเด่น » เงินเฟ้อ มี.ค.68 ขึ้น 12 เดือนติด คนไทยหน้ามืด ค่าครองชีพพุ่ง 2.1 หมื่นบ.

เงินเฟ้อ มี.ค.68 ขึ้น 12 เดือนติด คนไทยหน้ามืด ค่าครองชีพพุ่ง 2.1 หมื่นบ.

SHARE THIS

เงินเฟ้อขึ้น 12 เดือนติด คนไทยหน้ามืด ค่าครองชีพพุ่ง 2.1 หมื่นบาทต่อเดือน เพิ่มจากปีถึงก่อน 3 พัน ค่าเช่าบ้าน เดินทาง อาหาร ค่าหมอแพงหูฉี่

 

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ได้รายงานค่าใช้จ่ายของครัวเรือนของไทย เดือนมี.ค.68 พบว่า ประชาชนมีค่าใช้จ่าย เฉลี่ย 21,027 บาทต่อเดือน โดยเพิ่มขึ้นสูงกว่า 2,993 บาท เมื่อเทียบกับเดือนมี.ค.ปีที่แล้ว

 

เนื่องจากค่าครองชีพในหมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพิ่มสูงขึ้นจากสัดส่วนเมื่อปีที่แล้วจากสัดส่วน 58.36% เพิ่มเป็นปีนี้ที่ 60.87% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด โดยเฉพาะกลุ่มค่าเช่าบ้าน ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน  ที่สูงขึ้นกว่า ปีก่อนถึง 1,180 บาท  รองลงมาเป็น ค่ารถโดยสารเพิ่มขึ้นกว่า 526  บาท  ค่าแพทย์ ค่ายา สูงขึ้นเกือบ 351 บาท

 

 

สำหรับเมื่อลงรายละเอียดของค่าใช้จ่ายครัวเรือน เดือนมี.ค.68 ในกลุ่มหมวดสินค้าที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ พบว่ามีค่าใช้จ่าย เฉลี่ย 60.87% ต่อเดือน โดยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงสุด ได้แก่ ค่าเช่าบ้าน ค่าวัสดุก่อสร้าง ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน 5,183 บาทต่อเดือน เฉลี่ย 24.65% ค่าโดยสารสาธารณะ ค่าซื้อยานพาหนะ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าบริการโทรศัพท์มือถือ 4,731 บาทต่อเดือน เฉลี่ย 22.50%

 

ค่าแพทย์ ค่ายาและค่าบริการส่วนบุคคล 1,335 บาทต่อเดือน เฉลี่ย 6.35%  นอกจากนี้ ยังมีค่าหนังสือ ค่าสันทนาการ ค่าเล่าเรียน และการกุศลต่าง ๆ 847 บาทต่อเดือน เฉลี่ย 4.03% ค่าเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม และรองเท้า 442บาทต่อเดือน เฉลี่ย 2.10% ค่าบุหรี่ ค่าเหล้า ค่าเบียร์ 216 บาทต่อเดือน เฉลี่ย 1.24%

 

ขณะที่ หมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 39.13% ต่อเดือน ค่าใช้จ่ายที่สูงสุด ได้แก่ อาหารสำเร็จรูป อาทิ ข้าวราดแกง อาหารตามสั่ง เคเอฟซี พิซซ่า  3,470 บาทต่อเดือน เฉลี่ย 16.50% รองลงมาเป็น เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ 1,520 บาทต่อเดือน เฉลี่ย 7.23% ผักและผลไม้ 1,015 บาทต่อเดือน เฉลี่ย 4.83%

 

ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง 727 บาทต่อเดือน เฉลี่ย 3.46% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 699 บาทต่อเดือน เฉลี่ย 3.33% ไข่และผลิตภัณฑ์นม 362 บาทต่อเดือน เฉลี่ย 1.72% เครื่องปรุงอาหาร 257 บาทต่อเดือน เฉลี่ย 1.22% ผลิตภัณฑ์น้ำตาล 179 บาทต่อเดือน เฉลี่ย 0.85%

 

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) และโฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือน มี.ค.68 ดัชนีเท่ากับ 100.35 เทียบกับเดือนมี.ค.67 เพิ่มขึ้น 0.84% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ติดต่อกัน

 

ทั้งนี้ เป็นผลจากราคาสินค้าในกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เนื้อสัตว์ และอาหารสำเร็จรูป น้ำมันดีเซล และค่าเช่าบ้าน เพิ่มขึ้น  และนับหากรวม 3 เดือนแรกของปีนี้ เงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มแล้ว 1.08% จากปีก่อน ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน เดือน มี.ค.68 เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกมาเพิ่มขึ้น 0.86% ชะลอตัวลงจากเดือน ก.พ.68 ที่สูงขึ้น 0.99% และรวม 3 เดือน เพิ่มขึ้นที่ 0.89%

 

นอกจากนี้ พบว่ามีสินค้าราคาแพงขึ้น 155 รายการ อาทิ เนื้อหมู ปลาทู มะนาว ผักคะน้า ผักชี มะเขือ ส้มเขียวหวาน น้ำมันพืช กาแฟ ค่าเช่าบ้าน ตั๋วเครื่องบิน ราคาคงที่ 176 รายการ อาทิ ยาแก้ไข้ ค่าถอนฟัน ค่าน้ำประปา คนรับใช้ กระโปรงเด็ก ค่าทำใบขับขี่ เตียง ค่าภาษีรถยนต์ ค่าตรวจสุขภาพ และราคาลดลง 133 รายการ ไก่ย่าง ไข่ไก่ แตงกวา พริกสด ชะอม อาหารเดลิเวอรี โฟมล้างหน้า ค่าไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง

 

 

 

#เงินเฟ้อ #ค่าครองชีพ #สินค้าแพง #ข่าวจริง #thefacts #facts #fact