30 เมษายน 2025
Home » ข่าวเด่น » สินค้าแพงขึ้น 293 รายการ ดัน”เงินเฟ้อ” ก.พ.68 โต 1.08%

สินค้าแพงขึ้น 293 รายการ ดัน”เงินเฟ้อ” ก.พ.68 โต 1.08%

SHARE THIS

สินค้าแพง 293 รายการ เงินเฟ้อ ก.พ. โต 1.08% แต่ส่งสัญญาณแผ่วต่อเนื่อง คาดทั้งปีโตแค่ 0.8% หลุดเป้าหมาย คลัง-แบงก์ชาติตั้ง 2%

 

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) โฆษกกระทรวงพาณิชย์  เปิดเผยว่า  ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของไทย หรือเงินเฟ้อ เดือนก.พ.68 เท่ากับ 100.55 สูงขึ้น 1.08% เมื่อเทียบกับปีก่อน  และเพิ่มขึ้น 0.02% เมื่อเทียบเดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้เงินเฟ้อเฉลี่ย 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.68) สูงขึ้น  1.20% จากปีที่แล้ว  โดยปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น มาจากราคาสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะผลไม้สด เครื่องประกอบอาหาร เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และอาหารสำเร็จรูป ประกอบกับมีการสูงขึ้นของราคาน้ำมันดีเซล ค่ากระแสไฟฟ้า และค่าโดยสารเครื่องบิน  ส่วนราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ส่งผลกระทบไม่มากนัก

 

ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อมาจาก หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 2.03% และหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น  0.40% ซึ่งเมื่อลงรายละเอียดเป็นรายสินค้า พบว่า เดือนก.พ.68 มีสินค้าแพงขึ้นถึง 293 รายการ อาทิ ข้าวสารเจ้า ปลานิล แตงกวา กล้วยน้ำว้า ฝรั่ง น้ำมันพืช ขนมหวาน ค่าไฟ กาแฟผง ค่าเช่าบ้าน ค่าตั๋วเครื่องบิน น้ำมันดีเซล สินค้าราคาเท่าเดิม 53 รายการ อาทิ ค่าน้ำประปา ค่าเรือ รถเมล์ รถไฟ แท็กซี่ บุหรี่ และสินค้าราคาลดลง 118 รายการ ได้แก่ ไก่ย่าง ผักคะน้า มะเขือ มะนาว พริกสด องุ่น สบู่ แชมพู แก๊สโซฮอล์

 

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า แนวโน้มแนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมี.ค.68 คาดอยู่ระดับใกล้เคียงกับเดือนก.พ.68 ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อไตรมาส 1 ขยายตัวในกรอบ 1.1-1.2% เนื่องจากช่วงไตรมาสแรกปีที่แล้ว เงินเฟ้อเคยติดลบ ทำให้เมื่อเทียบกับเงินเฟ้อปีนี้จึงขยายตัวสูง แต่หลังจากนั้นช่วงไตรมาส 2 เงินเฟ้อจะโตลดลงเหลือเฉลี่ย 0.5% ซึ่งทำให้ภาพรวมเงินเฟ้อตลอดปี 68 เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 0.3-1.3% c]tมีค่ากลางที่ 0.8%

 

“เงินเฟ้ออาจไม่ถึงเป้าหมายที่รัฐบาล และธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งไว้ 1-3% หรือหากถึงก็จะถึงในช่วงกรอบล่างเท่านั้น อย่างไรก็ดีเงินเฟ้อที่ขยายตัวต่ำ ไม่ได้สะท้อนถึงปัญหากำลังซื้อของคนไทย เพราะสาเหตุมาจากการออกมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาลทั้งค่าไฟ และน้ำมันเชื้อเพลิง ที่สำคัญเมื่อดูตัวเลขหนี้ครัวเรือนก็ยังสูงถึง 89% สะท้อนว่ายังมีการใช้จ่ายระดับที่สูงอยู่”

 

สำหรับปัจจัยสนับสนุนให้เงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นช่วงหลังจากนี้ มาจากราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศที่กำหนดเพดาน ไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 29.92 บาทต่อลิตร  การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องสูงขึ้น และวัตถุดิบต้นน้ำของสินค้าเกษตรบางชนิดราคายังอยู่ระดับสูง โดยเฉพาะพืชสวน เช่น กาแฟ ปาล์มน้ำมัน และมะพร้าว

 

ส่วนปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อทั่วไปลดลง มาจากการลดลงของราคาน้ำมันดิบดูไบในตลาดโลกซึ่งต่ำกว่าปีก่อนหน้า  ภาครัฐออกมาตรการลดค่าครองชีพ ฐานราคาผักสดในปีก่อนหน้าอยู่ในระดับสูงทำให้ปีนี้ราคามีโอกาสลดลง และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของผู้ประกอบการรายใหญ่  ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งคำนวณจากเงินเฟ้อทั่วไป เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้น  0.99% เร่งตัวขึ้นจากเดือนม.ค.68 ที่สูงขึ้น  0.83%

 

#เงินเฟ้อ #สินค้าแพง #ข่าวจริง #สนค #thefacts #facts #fact