ป.ป.ช.สะเทือน ดิจิทัล วอลเล็ท รัฐบาลแตะเบรก แจก 1 หมื่นไม่ทัน พ.ค.นี้

สะเทือน ปปช.ส่งหนังสือเตือนรัฐบาล เบรกเงินดิจิทัล วอลเล็ท ด้านรัฐบาลเลื่อนประชุมไม่มีกำหนด จุลพันธ์ กัดฟันเดินหน้ากู้เหมือนเดิม
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้เลื่อนการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (บอร์ดชุดใหญ่) ออกไปก่อน จากเดิมมีกำหนดการที่จะประชุมในเวลา 15.30 น. ของวันที่ 16 ม.ค.67 โดยจะเลื่อนออกไปก่อนเป็นระยะเวลาสั้นๆ เนื่องจากได้รับหนังสือตอบกลับจากคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว และขอรอหนังสือจาก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ด้วย จึงจะนำหนังสือทั้งสองฉบับเข้าสู่ที่ประชุมทีเดียว จะได้ไม่ต้องประชุมหลายครั้ง เพราะไม่รู้ว่าข้อเสนอแนะและมาตรการต่างๆ ไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่
“ทราบมาว่าจะมีหนังสือจาก ป.ป.ช. ส่งมาเร็วๆ นี้ ก็ต้องรอดูว่ารายละเอียดมีอะไรบ้าง เพราะหากออกมาตรการตามที่กฤษฎีกาไป แต่ ป.ป.ช. มีความเห็นต่างจะเกิดความติดขัดได้ จึงต้องรออีกสักนิด และอาจจะดีด้วยจะได้รอนายกรัฐมนตรีกลับมาพอดี แต่จะประชุมได้อีกทีที่คณะรัฐมนตรีพร้อมหน้ากัน ก็จะเป็นในช่วงการประชุม ครม.สัญจร จังหวัดระนอง คาดว่าทุกเรื่องจะประชุมได้อีกทีหลัง ครม.สัญจร”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับหนังสือของ ป.ป.ช. ที่ได้เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท มีทั้งสิ้น 8 ข้อ ดังนี้
- ในการดำเนินโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต รัฐบาลต้องศึกษาวิเคราะห์ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมว่าผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการจะไม่ตกแก่พรรคการเมือง หรือบุคคลรายใดรายหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีศักยภาพมากกว่าผู้ประกอบการรายย่อย และบุคคลที่มิได้เป็นคนจน หรือมิใช่กลุ่มเปราะบางที่แท้จริงพร้อมกับต้องมีขั้นตอนหรือวิธีการที่เป็นรูปธรรมชัดเจนเพื่อให้โครงการสามารถกระจายการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างทั่วถึง
- ในการหาเสียงของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ต่อเมื่อพรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาล และได้มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 สำหรับโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต มีความแตกต่างกัน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งควรดำเนินการตรวจสอบว่าขัดรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาประกอบการพิจารณา มิฉะนั้นจะเป็นบรรทัดฐานสำหรับพรรคการเมืองสามารถหาเสียงไว้อย่างไรก็ได้ เมื่อได้รับเลือกตั้งแล้วไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม
- จากตัวเลขภาวะเศรษฐกิจของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้จากการศึกษา และตัวทวีคูณทางการคลัง และตัวบ่งชี้ภาวะวิกฤตของธนาคารโลกและ IMF ปรากฏว่าอัตราความเจริญเติบโตของประเทศไทยยังไม่เข้าข่ายประสบภาวะวิกฤตเศรษฐกิจแต่ประการใด เพียงแต่ชะลอตัวเท่านั้น ดังนั้นในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน จำเป็นต้องพิจารณาโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เช่นการบริโภคภาคเอกชน อัตราการว่างงาน การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ การเพิ่มทักษะให้แก่แรงงาน เป็นต้น
- การดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet จะต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าและความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งผลกระทบ และภาระทางการเงิน การคลังในอนาคต ภายใต้หลักธรรมาภิบาล 4 ด้าน คือ ความโปร่งใส (Transparency) การถ่วงดุล (Checks and Balances) การรักษาความมั่นคงของระบบการคลัง (Fiscal Integrity) และความคล่องตัว (Flexibility) โดยโครงการนี้มีผลเสียมากกว่าผลดี กล่าวคือ ต้องกู้เงินจำนวน 500,000 ล้านบาท ในขณะที่ตัวทวีคูณทางการคลังมีเพียง 0.4 การกู้เงินเป็นการสร้างภาระหนี้แก่รัฐบาลและประชาชนในระยะยาว ซึ่งจะต้องตั้งงบประมาณในการชำระหนี้จำนวนนี้เป็นระยะเวลา 4-5 ปี กระทบต่อตัวเลขการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ
- การดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรพิจารณาประเด็นความเสี่ยงด้านกฎหมายอย่างรอบคอบ ประกอบด้วย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (มาตรา 172) พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 (มาตรา 53) พระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (มาตรา 4 5 6) รวมถึงกฎหมาย คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินโครงการเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย
- คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรมีการประเมินความเสี่ยงในการดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet อย่างรอบด้าน โดยกำหนดแนวทางหรือมาตรการในการบริหารความเสี่ยง และการป้องกันการทุจริต ตลอดจนมีกระบวนการในการตรวจสอบทั้งก่อน ระหว่าง และหลังจากการดำเนินโครงการ อาจพิจารณานำข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องการบูรณาการป้องกันการทุจริตของโครงการภาครัฐ (โดยการติดตามประเมินผลการดำเนินงาน) ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2553 มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้โครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet สามารถดำเนินการได้อย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง
- การดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือประชาชนภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่เข้าขั้นวิกฤต ควรพิจารณากลุ่มประชาชนเป้าหมายที่เปราะบางที่สุดที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 อาทิ กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน
- ในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้กับโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรพิจารณาถึงความจำเป็นและความเหมาะสม พร้อมระยะเวลา และงบประมาณที่ต้องใช้ในการพัฒนาระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และระยะเวลาในการดำเนินโครงการ ซึ่งโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เป็นการแจกเงินเพียงครั้งเดียวโดยให้ใช้จ่ายภายใน 6 เดือน การพิจารณาใช้แอปพลิเคชันเป๋าตัง จะเป็นประโยชน์และเหมาะสมกว่า
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยถึงเอกสารความเห็นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.ที่มีต่อโครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต” หรือ เงินดิจิทัล 10,000 ว่า เป็นความเห็นที่ค่อนข้างชัดเจน และแรงพอสมควร ในการคัดค้านนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งรัฐบาลพร้อมรับฟัง และจะนำมาพิจารณาประกอบต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า ความเห็นของ ป.ป.ช.นั้น เป็นเอกสารทางการหรือไม่
ส่วนความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นคำตอบเชิงกฎหมาย ไม่ได้ห้ามดำเนินการ หรือสั่งการให้ดำเนินการ ซึ่งคณะกรรมการนโยบายฯ จะต้องรับฟัง และปฏิบัติให้เข้ากับข้อกฎหมาย แต่หากความเห็นจากกรรมการ ป.ป.ช.ที่มีการเผยแพร่เป็นความจริง ก็มีการวางธงไว้ชัดเจนว่า โครงการดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการได้ ดังนั้น เมื่อมีปัญหา และความเห็นที่เกิดขึ้นต่อนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เมื่อพิจารณาจากกรอบเวลาแล้ว ไม่น่าจะทันเดือน พ.ค. 2567
“แต่รัฐบาลยืนยัน จะเดินหน้าโครงการนี้ต่อไป ทั้งวงเงิน และจำนวนคน ยังเหมือนเดิม แต่ขั้นตอนต่อจากนี้ รัฐบาล จะรอความเห็นจากกรรมการ ป.ป.ช.อย่างเป็นทางการ ก่อนประชุมคณะกรรมการนโยบายฯ เพื่อพิจารณาความเห็น จากทั้ง ป.ป.ช. และกฤษฎีกา ในคราวเดียวกัน และเริ่มกระบวนการฟังความเห็นเพิ่มเติม และทำความเข้าใจ ชี้แจงข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน สถานการณ์เศรษฐกิจจริง ความเดือดร้อนจริงของประชาชน กับหน่วยงานที่ยังไม่เห็นเจตนาดีของรัฐบาล และความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งอาจต้องใช้เวลา เพื่อให้สามารถดำเนินนโยบายนี้ให้ได้โดยที่สุด”
#เงินดิจิทัล #ปปช #พรบกู้เงิน #กู้5แสนล้าน #ดิจิทัลวอลเล็ท #ข่าวจริง #Thefacts #Thefactsnews