30 เมษายน 2025
Home » ข่าวเด่น » สธ.แนะวิธี DIY ห้องปลอดฝุ่น ในบ้านตัวเอง รับมือฝุ่นพิษที่ยังพุ่งไม่หยุด

สธ.แนะวิธี DIY ห้องปลอดฝุ่น ในบ้านตัวเอง รับมือฝุ่นพิษที่ยังพุ่งไม่หยุด

SHARE THIS

กระทรวงสาธารณสุข แนะนำวิธีทำ ห้องปลอดฝุ่น ลดฝุ่นในบ้านเรือนตัวเอง ในช่วงสัปดาห์นี้ ที่แนวโน้มฝุ่นพิษยังพุ่งไม่หยุด  

 

ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ด้านแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม มีการพิจารณาแนวทางในการประกาศพื้นที่ควบคุมโรคจากฝุ่น PM 2.5 โดยใช้หลักเกณฑ์ค่าเฉลี่ยฝุ่น PM 2.5 ในรอบ 24 ชั่วโมง มากกว่า 75 มคก./ลบ.ม. ติดต่อกันในระยะเวลาหนึ่ง

 

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าช่วงวันที่ 24-27 มกราคม 2568 พื้นที่ กทม.และปริมณฑล ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ยังคงมีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานในระดับสีส้ม จึงขอให้ประชาชนตรวจสอบค่าฝุ่นเป็นประจำและปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

 

ในภาวะที่มีฝุ่นละอองสูงในบรรยากาศ การทำห้องปลอดฝุ่นเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองภายในห้อง และลดโอกาสสัมผัสฝุ่นละอองภายในอาคาร โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นต้น

 

ขณะที่หลักการสำคัญของห้องปลอดฝุ่น คือ กันฝุ่นเข้า กรองฝุ่นในห้อง และดันฝุ่นออก ซึ่งมีแนวทางการจัดทำ 3 รูปแบบ ได้แก่  รูปแบบที่ 1 การปิดประตู-หน้าต่าง ช่วยป้องกันฝุ่นไม่ให้เข้ามายังภายในห้อง รูปแบบที่ 2 ระบบฟอกอากาศ และรูปแบบที่ 3 ระบบแรงดันบวก

 

วิธีทำห้องปลอดฝุ่น มีดังนี้

  1. เลือกพื้นที่หรือห้องสำหรับทำห้องปลอดฝุ่น โดยเลือกที่อยู่ห่างจากแหล่งกำเนิดฝุ่น มีช่องว่าง ประตูหน้าต่างน้อย เก็บหรือทำความสะอาดวัสดุที่เป็นแหล่งสะสมฝุ่นในห้อง
  2. ปิดประตู-หน้าต่างให้มิดชิด เพื่อลดช่องว่าง ป้องกันฝุ่นจากภายนอกเข้ามาในห้อง
  3. ตรวจสอบรอยรั่วของห้อง เช่น บริเวณประตู หน้าต่าง และปิดช่องหรือรูที่อากาศภายนอกเข้าอาคารได้ด้วยวัสดุปิดผนึก เช่น พลาสติก ยิปซั่มบอร์ด เทป
  4. ลดฝุ่นในห้องโดยใช้ระบบฟอกอากาศหรือการเติมอากาศ เพื่อดันฝุ่นออกจากห้อง
  5. หมั่นดูแลทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ โดยใช้ใช้ผ้าชุบน้ำหมาด ๆ เช็ดทำความสะอาด ไม่ให้ฝุ่นฟุ้งกระจาย

 

  • กรณีที่ใช้เครื่องฟอกอากาศ ขอให้ตรวจสอบความปลอดภัยเบื้องต้น เลือกเครื่องฟอกอากาศให้เหมาะสมกับขนาดห้อง และดูค่าอัตราการจ่ายอากาศสะอาด (Clean Air Delivery Rate; CADR) ซึ่งจะระบุอยู่ที่ตัวเครื่อง/คู่มือ หมั่นตรวจสอบการทำงานของเครื่องและควรเปลี่ยนแผ่นกรองทุก 6 เดือน – 1 ปี

 

  • นอกจากทำห้องปลอดฝุ่นด้วยตนเองแล้ว ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงสามารถเข้าใช้บริการห้องปลอดฝุ่นได้ทั้งในสถานพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข 3,438 ห้อง ศูนย์พัฒนาเด็ก/โรงเรียน 1,003 ห้อง อาคารสำนักงาน 529 ห้อง ร้านอาหาร ร้านกาแฟ และอื่นๆ 426 ห้อง รวม 5,396 ห้อง ใน 62 จังหวัด

 

  • ค้นหาห้องปลอดฝุ่นใกล้บ้าน รวมทั้งค้นหาความรู้และวิธีการทำห้องปลอดฝุ่น ได้ที่เว็บไซต์ https://podfoon.anamai.moph.go.th/ หรือสอบถามสายด่วนกรมอนามัย 1478 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 

 

#ห้องปลอดฝุ่น #ฝุ่นPM #สถานการณ์ฝุ่น #ข่าวจริง #thefacts #facts #fact #ฝุ่นพิษ