รวมไว้ที่เดียว มาตรการแบงก์รัฐ พักหนี้ เงินกู้ ช่วยเหลือน้ำท่วมภาคใต้

รวมแนวทางมาตรการช่วยเหลือจากสถาบันการเงินของรัฐ ทั้งสินเชื่อ พักหนี้ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ในห้วงที่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ส่งผลให้ที่อยู่อาศัยและการประกอบอาชีพของประชาชนได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ทีมข่าว The FACTS ข่าวจริง ขอส่งมอบความห่วงใยถึงพี่น้องผู้ประสบภัย
พร้อมรวบรวมแนวทางมาตรการช่วยเหลือจากที่ต่างๆ ให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ได้รับทราบอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะในส่วนของธนาคารรัฐต่างๆ ได้ออกมาตรการช่วยเหลือ ดังนี้
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
ธ.ก.ส. จึงได้จัดทำมาตรการเร่งด่วนเพื่อดูแลเกษตรกรลูกค้าของธนาคารที่ได้รับความเดือดร้อนและผลผลิตได้รับความเสียหายจนส่งผลกระทบต่อรายได้ โดยให้ลูกค้าสามารถ เลื่อนระยะเวลาการชำระหนี้ออกไปสูงสุดไม่เกิน 1 ปี และไม่คิดดอกเบี้ยปรับ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น ซึ่งลูกค้าสามารถแจ้งความประสงค์ได้ที่สาขาในพื้นที่ได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึง 31 มกราคม 2568
นอกจากนี้ สำหรับพื้นที่ที่ประกาศเป็นเขตประสบภัยโดยผู้ว่าราชการจังหวัด ธ.ก.ส. ยังได้จัดทำมาตรการฟื้นฟูและเสริมสภาพคล่องเกษตรกรผ่าน
- โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน ปี 2567/68 เพื่อเสริมสภาพคล่องเกษตรกรในด้านค่าใช้จ่ายทั่วไป เช่น ค่าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็น อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 6 เดือนแรก เดือนที่ 7คิดอัตราดอกเบี้ย MRR (ปัจจุบัน MRR เท่ากับ 6.875% ต่อปี) วงเงินให้กู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท ผ่อนชำระนานสูงสุดไม่เกิน 3 ปี
- โครงการสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อเป็นค่าลงทุนในการซ่อมแซมบ้านเรือนและทรัพย์สิน ค่าซ่อมเครื่องมือและอุปกรณ์การเกษตรที่ได้รับความเสียหาย ค่าใช้จ่ายในการทำการเกษตรรอบใหม่ วงเงินรายละไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR – 2 % ต่อปี ผ่อนชำระนานสูงสุดไม่เกิน 15 ปี
ทั้งนี้ ธนาคารพร้อมเข้าไปดูแลและช่วยเหลืออย่างเต็มที่ โดยจัดหาถุงยังชีพเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนทั่วไปในพื้นที่ดังกล่าวโดยทันที และหลังจากน้ำลดจะออกสำรวจความเสียหายของลูกค้าเพื่อรวบรวมข้อมูลในการวางแนวทางการช่วยเหลืออย่างตรงจุดต่อไป สำหรับเกษตรกรผู้ประสบภัยดังกล่าวสามารถแจ้งความประสงค์ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปที่ ธ.ก.ส. สาขาใกล้บ้านท่านหรือสอบถาม รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 02 555 0555 ตลอด 24 ชั่วโมง
ธนาคารอาคารสงเคราะห์
ได้ออกโครงการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือที่อยู่อาศัยที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัย 7 มาตรการ
- สำหรับลูกค้าปัจจุบัน : ลดเงินงวดและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยพักชำระหนี้ นาน 3 เดือน พร้อมลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เหลือ 0% ต่อปี 3 เดือนแรก และเดือนที่ 4 – 12 คิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 2.00% ต่อปี พร้อมลดเงินงวดลง 50% ของเงินงวดที่ชำระในปัจจุบัน โดยเมื่อครบระยะเวลาให้ความช่วยเหลือ ลูกค้าสามารถกลับไปใช้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เดิมต่อไป
- สำหรับลูกค้าปัจจุบัน และลูกค้าใหม่ : กู้เพิ่มเพื่อซ่อมแซม หรือปลูกสร้างทดแทนหลังเดิม วงเงินกู้สูงสุดต่อรายต่อหลักประกันไม่เกิน 2 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเดือนที่ 1 – 3 เท่ากับ 0% ต่อปี พร้อมปลอดชำระเงินงวด, อัตราดอกเบี้ยเดือนที่ 4 – 24 เท่ากับ 2.00% ต่อปี, อัตราดอกเบี้ยปีที่ 3 เท่ากับ MRR-3.30% ต่อปี (3.24% ต่อปี), ปีที่ 4 เท่ากับ MRR-2.40% ต่อปี (4.14% ต่อปี) และปีที่ 5 จนถึงตลอดอายุสัญญา กรณีลูกค้ารายย่อย เท่ากับ MRR-0.50% ต่อปี, ลูกค้าสวัสดิการ เท่ากับ MRR-1.00% ต่อปี และกู้เพื่อซื้ออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวเนื่องเพื่อประโยชน์ในการอยู่อาศัย เท่ากับ MRR (อัตราดอกเบี้ย MRR ของ ธอส. ปัจจุบัน เท่ากับ 6.545% ต่อปี) ระยะเวลาการกู้ 40 ปี กู้ 1 ล้านบาท ผ่อนชำระเริ่มต้นเพียง 3,100 บาท เท่านั้น พิเศษ!ฟรีค่าธรรมเนียมราคาหลักประกัน (1,900 – 2,800 บาท) และค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการจำนองไม่เกิน 1% ของวงเงินจำนอง เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนอีกด้วย
5 มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปี 2567
- มาตรการที่ 1 : สำหรับลูกค้าสถานะ NPL ที่หลักประกันได้รับความเสียหาย ให้ประนอมหนี้ระยะเวลา ไม่เกิน 1 ปี 6 เดือน โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 6 เดือนแรก และไม่ต้องชำระเงินงวด จากนั้นเดือนที่ 7-18 อัตราดอกเบี้ย 1.00% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน และ เมื่อครบระยะเวลา ประนอมหนี้ให้กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้
- มาตรการที่ 2 : สำหรับลูกค้าสถานะ NPL ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ ให้ประนอมหนี้เป็นระยะเวลา ไม่เกิน 1 ปี โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 6 เดือนแรก และผ่อนชำระเงินงวดเพียง 1,000 บาท (ตัดเงินต้นทั้งหมด) จากนั้น เดือนที่ 7-12 อัตราดอกเบี้ย 1.00% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน บวกอีก 100 บาท และเมื่อผ่อนชำระครบระยะเวลาประนอมหนี้ ให้ลูกค้ากลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้
- มาตรการที่ 3 : สำหรับลูกค้าสถานะบัญชีปกติและสถานะ NPL ที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร ให้ผ่อนชำระ โดยใช้อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ตลอดระยะเวลาที่คงเหลือ (พิจารณาเป็นรายกรณี)
- มาตรการที่ 4 : สำหรับลูกค้าสถานะบัญชีปกติและสถานะ NPL หากที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลัง และไม่สามารถซ่อมแซมได้ ให้ปลอดหนี้ในส่วนของราคาอาคาร และให้ผ่อนชำระต่อเฉพาะในส่วนของที่ดินที่คงเหลือเท่านั้น (พิจารณาเป็นรายกรณี)
- มาตรการที่ 5 : พิจารณาสินไหมเร่งด่วน (Fast Track) สำหรับลูกค้าที่ทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัย ซึ่งคุ้มครองภัยธรรมชาติกับบริษัทประกันภัยที่ธนาคารจัดให้ พิจารณาจ่ายค่าสินไหมให้กับลูกค้าที่ประสบภัยทุกราย อย่างเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษ โดยผู้เอาประกันสามารถแจ้งความเสียหายโดยใช้ภาพถ่าย จ่ายตามความเสียหายจริงไม่เกิน 20,000 บาท และสำหรับลูกค้าที่มีกรมธรรม์เริ่มความคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 เพิ่มความคุ้มครองภัยธรรมชาติตามความเสียหายจริงอีกไม่เกิน 30,000 บาท ต่อปี (รายละเอียดและเงื่อนไขเป็นไปตามกรมธรรม์)
ทั้งนี้ ลูกค้าสามารถติดต่อได้ที่สาขาของ ธอส. ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2568 ส่วนลูกค้าที่ประสงค์ขอรับบริการ “ 5 มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปี 2567 ” มาตรการที่ 1-4 สามารถติดต่อได้ที่สาขาของ ธอส. ตั้งวันนี้ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2567 และมาตรการที่ 5 ติดต่อได้ที่สาขาของ ธอส. ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โทร.0-2645-9000
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)
นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ส่งผลให้หลายพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัย สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน และความเป็นอยู่ของประชาชน EXIM BANK พร้อมเคียงข้างผู้ประกอบการไทย โดยออกมาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบและสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ดังนี้
- เพิ่มทุนและโอกาสฟื้นฟูกิจการ
- เพิ่มวงเงินหมุนเวียนชั่วคราว สูงสุด 20% ของวงเงินหมุนเวียนเดิม ทั้งนี้ ไม่เกิน 2 ล้านบาท โดยใช้ อัตราดอกเบี้ยเดิม
- แปลงภาระหนี้ระยะสั้น เป็นภาระหนี้ระยะยาว ผ่อนชำระสูงสุด 3 ปี
- ลดภาระ
- พักชำระหนี้เงินต้น สูงสุด 12 เดือน
- ปรับลดอัตราดอกเบี้ย ปีแรกลง 0.50% หรือ จ่ายดอกเบี้ยเพียง 50% ในช่วง 6 เดือนแรก
- ขยายระยะเวลา
- ขยายระยะเวลาตั๋วสัญญาใช้เงิน สูงสุด 180 วัน
- ขยายระยะเวลาเงินกู้ สูงสุด 7 ปี
ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank
ออก 3 มาตรการช่วยเหลือเร่งด่วนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถกลับมาเดินหน้าธุรกิจได้ในเร็ววัน ได้แก่
- มาตรการ “พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย” สำหรับลูกค้าธนาคารที่ได้รับผลกระทบทางตรงและทางอ้อม ในพื้นที่ประสบภัยพิบัติตามที่ธนาคารกำหนด เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย ด้วยการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย สำหรับกลุ่มเงินกู้ยืมแบบมีระยะเวลา (Term Loan) สูงสุดไม่เกิน 12 เดือน สัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียนประเภทตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) และสินเชื่อแฟกตอริ่ง ขยายระยะเวลาชำระตั๋วสัญญาใช้เงินออกไปอีกสูงสุด 180 วัน และสามารถพักชำระดอกเบี้ยได้
- มาตรการ “เติมทุนฟื้นฟูกิจการ” ประกอบด้วย “สินเชื่อฉุกเฉิน” สำหรับลูกค้าเดิมได้รับผลกระทบทางตรง ที่มีสถานประกอบการตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ภัยพิบัติตามที่ธนาคารกำหนด เพื่อให้มีวงเงินกู้ฉุกเฉิน นำไปฟื้นฟูธุรกิจเฉพาะหน้า วงเงินกู้ 10% ของวงเงินเดิม ขั้นต่ำ 30,000 บาท สูงสุด 200,000 บาท (บุคคลธรรมดา สูงสุด 100,000 บาท และนิติบุคคล สูงสุด 200,000 บาท) อัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี ระยะเวลากู้ 3 ปี ปลอดชำระเงินต้น 12 เดือน ไม่ต้องมีหลักประกัน ยกเว้นค่าธรรมเนียม ลดกระบวนการนำส่งเอกสารในการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทางตรงเป็นการเร่งด่วน
- “สินเชื่อ Boost Up เพื่อเอสเอ็มอีประสบอุทกภัย” เปิดกว้างทั้งลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยทางตรง ซึ่งมีสถานประกอบการอยู่ในพื้นที่ตามประกาศของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เพื่อลงทุน ปรับปรุง หรือหมุนเวียนเสริมสภาพคล่อง เพื่อฟื้นฟูกิจการ วงเงินกู้สูงสุด 2 ล้านบาท (รวมทุกสถาบันการเงินสูงสุดไม่เกิน 40 ล้านบาท) อัตราดอกเบี้ย 3.50% ต่อปี คงที่ 2 ปีแรก ส่วนปีที่ 3 เป็นต้นไป MLR +1.5% ต่อปี ระยะเวลาผ่อนนานสูงสุด 5 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 12 เดือน หลักประกัน ใช้ บสย.ค้ำประกันได้เต็มวงเงิน สิ้นสุดวันรับคำขอกู้ภายใน 30 ธันวาคม 2567 หรือจนกว่าจะเต็มวงเงินของโครงการ
มาตรการช่วยเหลือครั้งนี้เป็นทางเลือกโดยสมัครใจ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการรับบริการ แจ้งความประสงค์ได้ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น สาขาของ SME D Bank ทุกแห่ง, LINE Official Account : SME Development Bank, เว็บไซต์ www.smebank.co.th เป็นต้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม Call Center 1357
บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
บสย. เดินหน้ามาตรการช่วยเหลือภาคใต้ ด้วยมาตรการเสริมสภาพคล่อง โครงการค้ำประกันสินเชื่อดอกเบี้ยถูก SMEs ฟื้นฟู No One Left Behind วงเงิน 1,000 ล้านบาท ภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 11 “บสย. SMEs ยั่งยืน” ค้ำประกันตั้งแต่ 1 หมื่น – 2 ล้านบาทต่อราย นานสูงสุด 10 ปี อัตราค่าธรรมเนียม 1.25% ต่อปี ฟรี! ค่าธรรมเนียม 3 ปีแรก พร้อมยกเว้นค่าดำเนินการค้ำประกันตลอดโครงการ โดยเปิดรับคำขอค้ำประกันตั้งแต่วันนี้ ถึง 30 เมษายน 2568
นอกจากให้ความช่วยเหลือผ่านมาตรการต่างๆ บสย. ยังได้เฝ้าติดตามสถานการณ์และผลกระทบอย่างใกล้ชิดในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ในพื้นที่ภาคใต้ ที่มีแนวโน้มเป็นพื้นที่ประสบอุทกภัย พร้อมมอบหมายให้สำนักงานเขต บสย. ทั่วประเทศเร่งสำรวจ ตรวจสอบและสื่อสารประชาสัมพันธ์มาตรการช่วยเหลือดังกล่าว ตลอดจนมอบหมายทีมงานของสำนักงานเขต บสย. ในพื้นที่ภาคใต้ ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลืออื่นๆ เพิ่มเติม ตลอดจนให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เพื่อให้คำแนะนำในการพลิกฟื้นธุรกิจอีกด้วย
สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่อยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัยตามประกาศของ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สามารถปรึกษาหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและรายละเอียดการเข้าร่วมมาตรการได้ที่ สำนักงานเขตในพื้นที่ หรือ บสย. Call Center โทร. 02-890-9999 หรือช่องทาง LINE OA : @tcgfirst บริการตรวจสุขภาพทางการเงิน พร้อมจองคิวขอรับคำปรึกษาทางการเงิน ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย
ขอบคุณภาพ กรมอุตุนิยมวิทยา
#มาตรการช่วยน้ำท่วม #น้ำท่วมใต้ #น้ำท่วมภาคใต้ #สินเชื่อช่วยน้ำท่วม #พักหนี้ #ข่าวจริง #thefacts #facts #fact