30 เมษายน 2025
Home » ข่าวเด่น » ผ่านแล้ว พ.ร.ก.ไซเบอร์ ให้แบงก์-ค่ายมือถือ ชดใช้ค่าเสียหายโกงออนไลน์

ผ่านแล้ว พ.ร.ก.ไซเบอร์ ให้แบงก์-ค่ายมือถือ ชดใช้ค่าเสียหายโกงออนไลน์

SHARE THIS

ครม.เห็นชอบเดินหน้า ​ “พ.ร.ก.ไซเบอร์” จัดการแก๊งคอลเซนเตอร์-อาชญากรรมไซเบอร์ เพิ่มโทษเจ้าของแอปฯ ธนาคาร ค่ายมือถือ รับผิดชอบความเสียหายประชาชน บังคับใช้ ก.พ.นี้

 

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม​ หรือ​ ดีอี เสนอแก้ไข พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยมีเหตุผลความเร่งด่วนตามการชี้แจงในที่ประชุม ครม. ดังนี้

 

รัฐบาลพบว่าประชาชนยังได้รับความเสียหายเฉลี่ยต่อวัน 60-70 ล้านบาท จึงจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหานี้ นอกจากนี้ พ.ร.ก. ฉบับเดิม พ.ศ.2566 ยังขาดอำนาจหน้าที่และการกำหนดโทษหลาย ๆ ประเด็น โดยเฉพาะอำนาจการดำเนินการกับบัญชีม้าบนแพลตฟอร์ม P2P, อำนาจการคืนเงินให้กับประชาชน และการรับผิดร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด

 

ทั้งนี้ พ.ร.ก. ฉบับนี้มีสาระสำคัญในการเสนอการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.ฉบับเดิม พ.ศ.2566 ดังนี้

  • เพิ่มอำนาจการดำเนินการกับแพลตฟอร์ม P2P ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด
  • เพิ่มหน้าที่ให้ telco provider ต้องระงับซิมที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด
  • เพิ่มหน้าที่การส่งข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีม้าของธนาคารต่าง ๆ ไปยัง ปปง. เพื่อตรวจสอบและคืนเงินให้กับผู้เสียหายได้รวดเร็วมากขึ้น
  • เพิ่มบทลงโทษแพลตฟอร์ม P2P รวมถึงธนาคารที่ไม่ปฏิเสธการเปิดบัญชีของมิจฉาชีพ
  • เพิ่มบทลงโทษผู้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล
  • เพิ่มบทลงโทษให้สถาบันทางการเงิน เครือข่ายมือถือ สื่อสังคมออนไลน์ มีส่วนรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น

 

ขณะที่นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ดิจิทัลฯ รายงานในที่ประชุมว่ากฎหมายฉบับนี้ถือเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและจะสามารถป้องกันและปราบปรามได้มากยิ่งขึ้น  ครม.จึงอนุมัติในหลักการและให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา

 

พร้อมกับให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับร่าง พ.ร.ก.ไปพิจารณาปรับรูปแบบ โดยให้รับความเห็นหน่วยงานไปประกอบการพิจารณา สำหรับร่าง พ.ร.ก.ฉบับนี้ หลัง ครม.เห็นชอบ และมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อมีผลบังคับใช้ทันที ซึ่งคาดว่าประกาศบังคับใช้ได้ในเดือน ก.พ.นี้

 

สำหรับ พ.ร.ก.ฉบับนี้ ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือปราบปรามแก๊งคอลเซนเตอร์ หรือในรูปแบบต่าง ๆ เนื่องจากกฎหมายนี้เป็นหนึ่งในมาตรการดำเนินการ อีกทั้งยังมีมาตรการอื่นอีก เช่น การทำงานร่วมกับต่างประเทศ ในการทลายแก๊งคอลเซนเตอร์ที่มีฐานที่ตั้งบริเวณชายแดน

 

ทั้งนี้ การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัลครั้งล่าสุดได้นำเสนอเรื่องนี้เป็นรายงานในที่ประชุม โดยทุกประเทศเห็นพ้องยกระดับร่วมกันและถือว่าแก๊งคอลเซนเตอร์ การหลอกลวงในโซเชียล เป็นภัยที่ทุกประเทศต้องตระหนักและต้องทำงานร่วมกัน

 

#พรกไซเบอร์ #แก๊งคอลเซ็นเตอร์ #อาชญากรรมไซเบอร์ #ค่ายมือถือรับผิดชอบ #ธนาคาร #ข่าวจริง #thefacts #facts #fact