ชาวนาอกหัก นบข.เบรกแจกเงิน จำนำยุ้งฉาง-ไร่ละพัน 20,000 บ.

ชาวนาอกหัก นบข.ตีกลับ 4 มาตรการดูแลราคาข้าวเปลือก 6.9 หมื่นล้าน เบรกจำนำยุ้งฉาง แจกเงินไร่ละพัน 20,000 บาท 4.6 ล้านครัวเรือน ชี้ข้าวเปลือกยังราคาดี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ไม่ได้เห็นชอบให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2566/67 ตามที่กระทรวงพาณิชย์ได้หารือร่วมกับเกษตรกร ผู้ประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 4 มาตรการ ประกอบด้วย
- สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี เป้าหมาย 3 ล้านตัน วงเงิน 10,120.71 ล้านบาท โดยช่วยค่าฝาก 1,500 บาทต่อตัน ในกรณีเข้าร่วมกับสหกรณ์ สหกรณ์รับ 1,000 บาทต่อตัน เกษตรกรรับ 500 บาทต่อตัน เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง 1–5 เดือน เริ่ม 1 ต.ค.66-29 ก.พ.67 เกษตรกรสามารถนำข้าวไปขอสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยข้าวหอมมะลิตันละ 12,000 บาท ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 10,500 ล้านบาท ข้าวหอมปทุมธานี ตันละ 10,000 บาท ข้าวเจ้า ตันละ 9,000 บาท และข้าวเหนียว ตันละ 10,000 บาท หากข้าวราคาขึ้น เกษตรกรสามารถไปไถ่ถอนออกมา เพื่อนำมาจำหน่ายได้
- สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร เป้าหมาย 1 ล้านตัน วงเงิน 481 ล้านบาท โดยสหกรณ์จ่ายดอกเบี้ย 1% รัฐช่วยดอกเบี้ย 3.85% ระยะเวลา 15 เดือน ระยะเวลาการจ่ายสินเชื่อ 1 ต.ค.66-30 ก.ย.67
- ชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการเก็บสต๊อก เป้าหมาย 10 ล้านตัน วงเงิน 2,120 ล้านบาท โดยรัฐช่วยดอกเบี้ย 4% เก็บสต๊อก 2–6 เดือน ระยะเวลารับซื้อ 1 พ.ย.66-31 มี.ค.67
- การสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว 4.68 ล้านครัวเรือน ช่วยไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละ 20,000 บาท วงเงิน 56,321 ล้านบาท
ทั้งนี้ ที่ประชุม นบข.ได้เห็นชอบในหลักการของมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกปีการผลิต 2566/67 เท่านั้น แต่ไม่ได้เห็นชอบให้ดำเนินการ เนื่องจากมองว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวใช้เงินสูงมากกว่า 6.9 หมื่นล้านบาท จึงต้องพิจารณาการใช้เงินอย่างรอบคอบ และให้กลไกจากการสหกรณ์เข้าไปช่วยดูแลการรับซื้อแทน ประกอบกับ ราคาข้าวเปลือกชนิดต่างๆ ในปัจจุบันยังอยู่ในระดับราคาสูง สามารถปล่อยให้กลไกตลาดดูแลราคาข้าวเปลือกต่อไปได้
ด้านนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ที่ประชุม นบข. ได้เห็นชอบในหลักการ มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2566/67 โดยไม่ขัดข้องในหลักการและวัตถุประสงค์ในการเก็บสต็อกและเร่งรับซื้อเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาให้กับเกษตรกร ที่ผลผลิตกำลังจะเริ่มออกสู่ตลาดในช่วงเดือน พฤศจิกายน-ธันวาคม 2566 นี้ แต่เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในขณะนี้ จึงได้เห็นชอบวิธีการในการดำเนินมาตรการชะลอการข้าวเปลือก โดยใช้กลไกสหกรณ์การเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกกรณ์ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 600 กว่าแห่ง เข้าไปช่วยเร่งรับซื้อข้าวเปลือกที่กำลังจะออกสู่ตลาด
พร้อมกับมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง และ ธ.ก.ส. พิจารณารายละเอียดวิธีการให้สินเชื่อและการช่วยเหลืออัตราดอกเบี้ยแก่สหกรณ์และสถาบันเกษตรกร และการใช้จ่ายงบประมาณ นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป ส่วนมาตรการเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการ มอบหมายกระทรวงการคลัง พิจารณาแนวทางแก้ปัญหา กรณีธนาคารพาณิชย์เข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อและเงื่อนไขการให้สินเชื่อประกอบการรับซื้อ
“มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร นบข.มีความเห็นว่า เนื่องจากขณะนี้ราคาข้าวยังมีเสถียรภาพและคาดว่าการดำเนินมาตรการชะลอการขายและมาตรการรวบรวมรับซื้อข้าวโดยสถาบันเกษตรกร จะสามารถช่วยรักษาระดับราคาในช่วงที่ออกสู่ตลาดมากได้ จึงกำหนดให้มีการประชุมเพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรอย่างทันท่วงที”
นอกจากนี้ ได้พิจารณาปรับเปลี่ยนชื่อข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่เป็นข้าวเปลือกหอมมะลิ และมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลัก ประชุมหารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนเกษตรกร ผู้ประกอบการค้าข้าว และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาหาแนวทางที่เหมาะสมเกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด และภาคเหนือ 3 จังหวัด (เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา) เป็น “ข้าวหอมมะลิ” และนำเสนอ นบข. ต่อไป
#นบข #เบรกแจกเงินชาวนา2หมื่น #แจกเงินชาวนา #ไร่ละพัน #จำนำยุ้งฉาง #วัฒนศักย์ #ข้าวหอมมะลิ #นโยบายข้าว #ข่าวจริง #Thefacts #Thefactsnews