กฎหมายน่ารู้ เทศกาลสงกรานต์ เล่นน้ำอย่างไรไม่ให้ผิดกฎหมาย

เทศกาลมหาสงกรานต์ 2568 กำลังใกล้เข้ามาแล้ว เป็นช่วงเวลาหยุดยาว ที่หลายคนพาเดินทางไปพักผ่อน บ้างก็ออกเล่นน้ำดับกระหายคลายร้อนกัน
แต่ในการเล่นน้ำในช่วงสงกรานต์ ก็ต้องเล่นอย่างมีสติและเล่นน้ำอย่างปลอดภัย เพราะหากเลยเถิดจนไม่เกิดความพอดี อาจผิดกฎหมาย เสี่ยงคุก เสี่ยงตลาดได้
ทีมข่าว The FACTS ข่าวจริง เลยขอพาไปดูข้อควรระวัง กฎหมายน่ารู้ ในการเล่นน้ำช่วงสงกรานต์ ว่ามีพฤติกรรมอะไรไม่ควรทำ และเสี่ยงผิดต่อกฎหมายบ้าง
กฎหมายเกี่ยวกับการจราจร
- ขาดต่อภาษีประจำปี การเสียภาษีประจำปี เป็นสิ่งที่เจ้าของรถต้องดำเนินการทุกปีควบคู่กับการต่อ พ.ร.บ. รถยนต์ หากขาดการต่อภาษี แล้วตำรวจเรียกตรวจจะถูกเรียกปรับทันที มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
- ขาดต่อ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ หากขาดต่อภาษีประจำปี ก็เป็นไปได้ว่าจะขาดต่อ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถด้วย อย่างที่รู้กันว่า พ.ร.บ. รถยนต์นั้นจะมีอายุเพียง 1 ปี หากถูกตำรวจเรียกตรวจ ผู้เป็นเจ้าของรถจะต้องแสดงหลักฐาน ในกรณีที่ไม่มีหลักฐาน หรือพบว่าขาดการต่อ พ.ร.บ. จะมีอันตราโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท และที่สำคัญคือเมื่อเกิดอุบัติเหตุจะไม่ได้รับความคุ้มครองจาก พ.ร.บ. อีกด้วย
- เมาแล้วขับ หากเมาแล้วขับรถ มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 5,000 – 20,000 บาท และอาจถูกศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 6 เดือนหรือเพิกถอนใบอนุญาต
- ดื่มแอลกอฮอล์ขณะโดยสารในรถ แม้ว่าไม่ได้ขับขี่เอง แต่เป็นผู้โดยสารหากดื่มแอลกอฮอล์ขณะโดยสารในรถก็มีความผิดตามกฎหมายเช่นกัน อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท
- ขับรถเร็วกว่ากำหนด ความเร็วสูงสุดที่กฎหมายกำหนดในเขตเมืองจะอยู่ที่ 80 กม./ชม. และนอกเมืองอยู่ที่ 90 กม./ชม. แต่อาจมีการอนุโลมในถนนบางสาย ให้สามารถใช้ความเร็วเกินกว่านั้นได้ หากฝ่าฝืนมีอัตราโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
- จอดรถในที่ห้ามจอด จอดรถในที่ห้ามจอดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีความผิดตามกฎหมาย อัตราโทษปรับไม่เกิน 500 บาท
- คนขี่รถมอเตอร์ไซค์ไม่สวมหมวกกันน็อก หากคนขี่รถมอเตอร์ไซค์ไม่สวมหมวกกันน็อก อัตราโทษปรับไม่เกิน 500 บาท
- คนซ้อนรถมอเตอร์ไซค์ไม่สวมหมวกกันน็อก หากคนซ้อนรถมอเตอร์ไซค์ไม่สวมหมวกกันน็อก อัตราโทษปรับไม่เกิน 500 บาท ส่วนคนขับขี่จะโดนปรับ 2 เท่าคือไม่เกิน 1,000 บาท
- ใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ การใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับขี่โดยไม่ผิดกฎหมาย จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เสริม เช่น หูฟังบลูทูธ สมอลทอล์ก และต้องมีที่ยึดจับโทรศัพท์ เพื่อความปลอดภัย หากฝ่าฝืนมีอัตราโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
กฎหมายเกี่ยวกับการเล่นน้ำสงกรานต์
- ประแป้งโดยผู้อื่นไม่ยินยอม หากประแป้งโดยผู้อื่นไม่ยินยอม โดยทำให้ผู้อื่นขายหน้า โดยเปลือยหรือเปิดเผยร่างกาย หรือกระทำการลามกอย่างอื่น มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
- สาดน้ำใส่ผู้อื่น หากสาดน้ำใส่ผู้อื่น อันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท และหากผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย หรือจิตใจ มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท
- นั่งท้ายกระบะ ไม่ถูกต้องตามกฎหมายกำหนด หากนั่งท้ายกระบะเกิน 6 คน หรือ Space Cab เกิน 3 คน, ยืนโดยสาร หรือนั่งริมขอบกระบะ และ ขับรถเกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
- แต่งตัวโป๊เปลือย หากใครกระทำการอันควรให้ขายหน้าต่อธารกำนัล โดยเปลือยหรือเปิดเผยร่างกาย หรือกระทำการลามกอย่างอื่น มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
- กระทำการในลักษณะคุกคามทางเพศ หากกระทำการในลักษณะคุกคามทางเพศ อาจมีความผิดฐานอนาจารด้วย มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท
- ใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงหรือน้ำสกปรก เพราะอาจทำให้บาดเจ็บหรือเกิดอุบัติเหตุ มีโทษตามกฎหมายอาญาเรื่องการทำร้ายร่างกาย โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4,000 บาท
- ใช้รถบรรทุกน้ำผิดกฎหมาย โดยดัดแปลงรถบรรทุกน้ำหรือขับขี่โดยไม่มีใบอนุญาต ผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก มีโทษปรับสูงสุด 50,000 บาท และอาจถูกยึดรถ
กฎหมายเกี่ยวกับแอลกอฮอล์
- ดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่กฎหมายห้าม ดื่มในสถานที่ต้องห้าม เช่น วัด ปั๊ม สวนสาธารณะ มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท
- โพสต์ยี่ห้อแอลกอฮอล์ โพสต์ภาพที่ติดยี่ห้อแอลกอฮอล์ ทั้งที่ไม่เป็นการเชิญชวน หรือมีการชักชวน มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท
- ขายเครื่องดื่มให้คนอายุต่ำกว่า 20 ปี/คนมีอาการเมาไม่ได้สติ ถ้าขายเครื่องดื่มให้คนอายุต่ำกว่า 20 ปี หรือคนมีอาการเมาครองสติไม่ได้ มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท
- ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกินเวลา ขายเครื่องดื่มนอกเวลาที่กฎหมายกำหนด คือ 11.00 – 14.00 น. และ 17.00 – 24.00 น. มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท
ยิงปืนขึ้นฟ้า
- บางคนอาจคิดว่ายิงปืนขึ้นฟ้าในช่วงสงกรานต์ดูเท่ แต่ผิดกฎหมายอาวุธปืนชัดเจน การยิงปืนขึ้นฟ้า มีความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ม.8 ทวิ โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ถ้ากระสุนตกใส่หลังคาบ้าน ทรัพย์สินเสียหาย หรือถูกคนอื่น โทษยิ่งหนัก มีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.291 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท
- ม.300 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
#กฎหมายน่ารู้ #ข้อห้ามสงกรานต์ #สาดน้ำผิดกฎหมาย #ข่าวจริง #thefacts #facts #fact